‘เขื่อนแม่ขาน’จุดเปราะบางเหนือชุมชน’200ปีแม่ขนิลใต้’ – คมชัดลึก

8gacab59ffab5ca6f8igj

 

‘เขื่อนแม่ขาน’จุดเปราะบาง เหนือชุมชน’200ปีแม่ขนิลใต้’ : ประภาภรณ์ เครืองิ้วรายงาน

 

             เกือบ 20 ปีที่ชาวบ้านกลุ่มหนึ่งซึ่งตั้งบ้านเรือนใกล้หุบเขาบ้านแม่ขนิลใต้ ต.น้ำแพร่ อ.หางดง จ.เชียงใหม่ ผนึกกำลังเคลื่อนไหวคัดค้านโครงการก่อสร้าง เขื่อนแม่ขาน ของกรมชลประทาน เนื่องจากกระทบวิถีชีวิตของชาวบ้าน 56 ครัวเรือน ประมาณ 200 คน ต้องโยกย้ายถิ่นฐาน และป่าไม้ถูกทำลายกว่า 2,000 ไร่

             แม้เป็นเพียงเสียงสะท้อนเล็กๆ ดังก้องจากพงไพร ทว่าพลังต้านของคนในท้องถิ่นก็มีพลังมากพอให้โครงการหยุดชะงัก กระทั่งมหาอุทกภัยเมื่อปี 2554 มวลน้ำกลืนแผ่นดินไทยไปค่อนประเทศ รัฐบาล “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” จึงสั่งยกเครื่องโครงการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบภายใต้งบประมาณ 3.5 แสนล้านบาท โดยมอบหมายให้คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) เป็นเจ้าภาพดำเนินการ ดังนั้นแผนก่อสร้างเขื่อนแม่ขานจึงถูกปัดฝุ่นอีกครั้ง และบรรจุไว้ในโมดูลเอ 1

             นี่คือสัญญาณเดินหน้าอีกครั้งของโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำแม่ขานความจุ 74.84 ล้านลูกบาศก์เมตร ตั้งอยู่บนพื้นที่ ต.บ่อหลวง อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่

             “พันธ์ จันทร์แก้ว” ผู้ใหญ่บ้านแม่ขนิลใต้ เล่าว่า ชุมชนแห่งนี้ก่อตั้งมากว่า 200 ปี มีวัฒนธรรมประเพณีที่มีการสืบทอดมาอย่างยาวนาน ชาวบ้านช่วยรักษาและฟื้นฟูสภาพป่าไม้สืบต่อกันมารุ่นแล้วรุ่นเล่า หากรัฐบาลผลักดันโครงการเขื่อนแม่ขาน จะทำให้พื้นที่อุดมสมบูรณ์ในเขตอุทยานถูกทำลาย รวมทั้งแหล่งอาหารของชาวบ้านด้วย

             “พวกเราจะไม่ยอมอพยพออกนอกพื้นที่แน่นอน โครงการนี้กระทบจิตใจชาวบ้านอย่างมาก สิ่งที่กังวลอีกเรื่องคือ ที่ผ่านมาชาวบ้านไม่เคยรู้ข้อมูลเรื่องของการจัดสรรพื้นที่อพยพ แต่ถึงจะจัดสรรที่ดินให้ชาวบ้านก็ไม่ยอมออกไป เพราะกังวลว่าที่ใหม่ที่รัฐบาลหาให้จะไม่อุดมสมบูรณ์เหมือนที่อยู่ปัจจุบัน จากประสบการณ์ซึ่งเห็นจากพื้นที่อื่นๆ พอได้ที่อยู่ใหม่มักจะลำบากขึ้น ดังนั้น เรายืนยันว่าจะอยู่ที่นี่ต่อไป จะต่อสู้จนถึงที่สุด”

             “รัฐบาลถือเป็นพ่อแม่ พวกเราก็ถือเป็นลูกคอยทำหน้าที่ในการดูแลพื้นที่ป่า ซึ่งเป็นสมบัติของประเทศ แต่วันนี้พ่อแม่กำลังจะทำลายป่าไม้ของชาติ ที่ดูแลโดยลูกๆ แต่ไม่ศึกษาว่าลูกๆ จะได้รับผลกระทบยังไง อยากจะให้รัฐบาลได้ศึกษาว่าโครงการนี้จะสร้างประโยชน์จริงหรือไม่ รวมทั้งควรศึกษาตัวอย่างชุมชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากการสร้างเขื่อนด้วย หรือควรย้ายไปสร้างที่อื่น หรือลดขนาดลงให้กระทบสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตคนในท้องถิ่นน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้” พันธ์เสนอทางออก

             ส่วนเหตุผล เพื่อป้องกันน้ำท่วมและจัดสรรน้ำสำหรับพื้นที่เกษตรกรรมนั้น “ธีระพงศ์ โพธิ์มั่น” นายกสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต ย้ำว่า โครงการนี้ไม่สามารถตอบโจทย์อย่างแท้จริง เนื่องจากเขื่อนแม่ขานจะต้องสร้างในเขตอุทยานแห่งชาติออบขาน ถือว่าสวนทางกับนโยบายรัฐบาลในการดูแลและฟื้นฟูสภาพพื้นที่ป่า ขณะปัญหาอุทกภัยเมื่อปี 2554 เกิดจากการบริหารจัดการด้านน้ำของทางรัฐบาล

             “สิ่งสำคัญต้องสร้างความเข้าใจและให้ข้อมูลชาวเชียงใหม่ ที่ผ่านมาพบว่ามีประชาชนเพียง 5% เท่านั้นที่รู้ว่าจะมีการก่อสร้างเขื่อนแม่ขาน ซึ่งส่งผลให้อุทยานฯ ออบขาน จะต้องถูกน้ำท่วม รวมทั้งพื้นที่ป่าจะถูกทำลาย เรื่องนี้ชาวเชียงใหม่ต้องมีส่วนร่วม เพราะอุทยานฯ ออบขาน ถือเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ”

             ทั้งนี้ รัฐบาลต้องมีความจริงใจในการเปิดเผยข้อมูลทุกด้าน ทั้งผู้ได้รับผลกระทบ และผู้ได้รับประโยชน์ เพื่อให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจอย่างแท้จริง ไม่ใช่เป็นการบังคับ หรือทำให้เกิดความขัดแย้ง

ใส่ความเห็น