ประเด็นทางวิชาการของคลองผันน้ำฝั่งตะวันตก ของ Module A5 (คลองผันน้ำสายใหม่ ขาณุฯ – ท่าล้อ)

ข้อมูลโดย เครือข่ายงานวิชาการ

ภาพประกอบโดย จับตาแม่น้ำสายใหม่ อย่าทำร้ายสายน้ำแม่กลอง

 

935128_406533209473655_2085740706_n

เนื่องจากคลองผันน้ำสายใหม่นี้ ส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางและรุนแรงตามรัฐธรรมนูญส่วนที่ 12 สิทธิชุมชน มาตรา 67) กบอ. ต้อง “ศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในชุมชนและจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียก่อน รวมทั้งได้ให้องค์การอิสระซึ่งประกอบด้วยผู้แทนองค์การเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพและผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติหรือด้านสุขภาพให้ความเห็นประกอบก่อนมีการดำเนินการดังกล่าว”

นอกจากประเด็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญแล้ว ยังมีประเด็นทางวิชาการที่ต้องคำนึงถึงดังต่อไปนี้

1 ปริมาณน้ำในแม่น้ำปิง ที่บ้านแสนตอ ตำบลขาณุวรลักษบุรี อำเภอขาณุวรลักษบุรี จังหวัดกำแพงเพชร (สถานี P.16 ของศูนย์อุทกวิทยาและบริหารน้ำภาคเหนือตอนล่าง กรมชลประทาน) พบว่ามีปริมาณน้ำเฉลี่ยรายเดือนระหว่างปี พ.ศ. 2507 – 2555 มีปริมาณน้ำที่เกิน 1,000 ล้าน ลบ.ม. เพียง 2 เดือน คือ เดือน ก.ย. และ ต.ค. เท่านั้น

ทำให้เกิดคำถามว่า ตลอดทั้งปีจะมีปริมาณน้ำเพียงพอในการรักษาระดับในคลองผันน้ำ เพื่อผลักดันน้ำเค็มที่จะรุกล้ำเข้ามาได้อย่างไร ???

น้ำเค็มมีโอกาสที่จะรุกล้ำเข้าไปถึงปทุมธานีหรืออยุธยาซึ่งเป็นแหล่งปลูกข้าวที่สำคัญของประเทศ หากเป็นเช่นนั้นระบบนิเวศน้ำจืดในที่ราบลุ่มภาคกลางจะถูกเปลี่ยนกลายเป็นน้ำกร่อย ส่งผลให้ไม่สามารถปลูกข้าว พืชสวน หรือผักอื่นๆ ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อ กบอ. ดำเนินการตาม Module A1 – A4 แล้ว ปริมาณน้ำท่าสูงสุด จะลดน้อยลงไม่น้อยกว่า50% ทำให้คลองผันน้ำสายใหม่นี้ ไม่มีความจำเป็นเลย

1390552_400732693387040_134875096_n

2 ปริมาณน้ำในแม่น้ำแม่กลอง ที่อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี (สถานี K.11A ของศูนย์อุทกวิทยาและบริหารน้ำภาคตะวันตก กรมชลประทาน) พบว่ามีปริมาณน้ำเฉลี่ยรายเดือนระหว่างปี พ.ศ. 2536 – 2555 ในเดือน ก.ย. และ ต.ค. เป็นจำนวน 944 และ 1,058 ล้าน ลบ.ม. ตามลำดับ ซึ่งเป็นปริมาณน้ำที่สูงที่สุดในรอบปีอยู่แล้ว หากผันน้ำจากแม่น้ำปิงมาสมทบ จะทำให้น้ำจืดทะลักออกสู่อ่าวไทยมากเกินไปจนทำให้สัตว์น้ำทะเลปรับตัวไม่ทันจนตายในที่สุด ส่งผลกระทบต่อการประมงพื้นบ้านการประมงชายฝั่ง รวมถึงระบบนิเวศน์ชายฝั่งอย่างแน่นอน และสันดอนปากแม่น้ำอาจหายไปหรือเกิดการกัดเซาะชายฝั่งมากขึ้นจากความเร็วของน้ำที่ออกไป นอกจากนี้ หากน้ำทะเลขึ้นสูง น้ำจืดไม่สามารถระบายลงทะเลไดทำให้น้ำจืดตกค้างเป็นปริมาณมาก จะส่งผลกระทบต่อสภาพน้ำกร่อยในพื้นที่ ทำให้เกิดปัญหาในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำหรือการเกษตร

1395422_398979650229011_121751010_n

3. การคิดจะสร้างประตูระบายน้ำ ได้มีตัวอย่างความล้มเหลวจากโครงการเขื่อนบางปะกงที่ไม่สามารถแบ่งน้ำจืดน้ำเค็มได้ประกอบกับ ลำน้ำแม่กลองยังมีเรือสัญจรและถ้ามีประตูระบายน้ำ จะทำให้การคมนาคมทางน้ำไม่คล่องตัวและจะต้องเอาน้ำจืดมาจากไหนเพื่อบริหารประตูให้เรือสัญจร นอกจากนั้นการมีประตูระบายน้ำทำให้ตลิ่ง 2 ฝั่งแม่น้ำพังทลายจากปริมาณน้ำขึ้นลงซึ่งเกิดจากการปิดเปิดประตูระบายน้ำที่ไม่เป็นไปตามธรรมชาติซึ่งปัญหาตลิ่งพังที่เกิดจากเขื่อนบางปะกงยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้จนทุกวันนี้

4. การขุดปากแม่น้ำแม่กลองให้ลึกขึ้นไม่มีประโยชน์และเป็นการเร่งให้น้ำเค็มขึ้นสูง และเกิดการพังทลายของตลิ่ง 2 ฝั่งแม่น้ำตลอดจนทำให้พื้นที่ทางการเกษตรได้รับความเสียหายจากน้ำเค็ม และน้ำกร่อย

5. น้ำหนักของรถยนต์ที่สัญจรไปมาตลอดทั้งปีบนถนน 4 ช่องจราจรสองข้างฝั่งคลองผันน้ำสายใหม่ รวม 8 ช่องจราจร อาจส่งผลให้ตลิ่งสองฝั่งคลองผันน้ำพังทลาย ทำให้มีค่าใช้จ่ายสูงในการบำรุงรักษาคลองผันน้ำสายใหม่

6. เป็นคลองผันน้ำที่ใหญ่เกินความจำเป็น และเป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มค่าเพราะใช้เป็นคลองผันน้ำอย่างเดียว

7. เป็นการทำลายทรัพยากรธรรมชาติมากที่สุด เพราะต้องเวนคืนที่ดิน ตัดเขตป่า อุทยานแห่งชาติ เปลี่ยนแปลงวิถีของชุมชน เปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม ตลอดความยาวของคลองผันน้ำ

Screen Shot 2556-10-29 at 12.01.28 AMScreen Shot 2556-10-29 at 12.05.05 AM

ก่อนเซ็นสัญญาโครงการ รัฐบาลจึงต้องทำการศึกษาผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมตลอดเส้นทางที่คลองตัดผ่าน เนื่องจากส่งผลกระทบอย่างสูงในเรื่องระบบนิเวศคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของชุมชนที่คลองผันน้ำตัดผ่าน

 

คลิกที่นี่เพื่ออ่านข้อเสนอแนะต่อแนวทางของคลองผันน้ำฝั่งตะวันตกในโมดูล A5

 *** ได้ส่งความคิดเห็นนี้เข้าไปทางเว็บไซต์รับฟังความคิดเห็นโดยสำนักนายกฯแล้วเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2556 เวลาเที่ยงคืนยี่สิบหกนาที 

Screen Shot 2556-10-29 at 12.21.15 AM

ใส่ความเห็น