“โปรยเขื่อนทั่วฟ้า : ความล้มเหลวของการจัดการน้ำภาครัฐ”
บทความนี้เป็นต้นฉบับส่งตีพิมพ์ในเนชั่นสุดสัปดาห์ฉบับที่ 1116 18 ตุลาคม 2556 Photo by Shineru
ในช่วงนี้ ดูเหมือนความขัดแย้งเรื่องเขื่อนในสังคมไทยได้ทวีความเข้มข้นมากขึ้น โดยเฉพาะเขื่อนในแผนการจัดการน้ำ 3.5แสนล้านบาท เพราะในด้านหนึ่งรัฐบาลกำลังเร่งผลักดันเขื่อนหฃายแห่งรวมทั้งเดินสายแจกเขื่อนทั่วประเทศ นอกจากนั้น ”คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย” หรือ กบอ. ยังมีแผนจัดโรดโชว์เพื่อโปรโมทโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน เช่น ในวันที่ 18 พ.ย.นี้จะจัดที่มหาวิทยาลัยราชภัฎสกลนคร และ 20 พ.ย.มหาวิทยาลัยราชภัฎชัยภูมิ
ขณะที่อีกด้านหนึ่ง เราจะเห็นว่าคนในสังคมรวมทั้งชุมชนที่จะได้รับผลกระทบก็ได้ออกมาแสดงจุดยืนยืนคัดค้านแผนการสร้างเขื่อนภายใต้โครงการดังกล่าวในหลายพื้นที่ ทั้งที่แม่วงก์ จ.นครสวรรค์ เขื่อนยมบน-ยมล่างที่สะเอียบ จ.แพร่ และ จ.พะเยา เขื่อนแม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ เขื่อนสะพุงเหนือ จ.ชัยภูมิ ฯลฯ
ความจริงแล้ว หากพิจารณา “ประวัติศาสตร์ความคิดเขื่อน” ในบริบทของการพัฒนาของรัฐไทย รัฐไทยได้รับเอาความคิดการสร้างเขื่อนเข้ามาตั้งแต่กลางทศวรรษ 2490 โดยการสนับสนุนของธนาคารโลก (World Bank) ซึ่งเขื่อนนอกจากมีฐานะเป็นโครงสร้างพื้นฐานอันดับต้นๆที่รัฐจะต้องดำเนินการแล้ว ในเชิงอุดมการณ์ การสร้างเขื่อนยังเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างชาติ (nation building) ด้วย
แต่การสร้างเขื่อนก็ได้นำมาซึ่งความขัดแย้งในสังคมไทย นับแต่รัฐไทยเริ่มสร้างเขื่อนแรกคือเขื่อนภูมิพล จ.ตาก โดยในระดับชาติการสร้างเขื่อนแห่งนี้ถูกต่อต้านโดยสมาชิกรัฐสภาจากภาคอีสานที่มองว่าเป็นการนำภาษีประชาชนไปใช้ ขณะที่คนอีสานส่วนใหญ่ยังยากจนและต้องการการพัฒนา ทำให้รัฐบาลจอม ป.พิบูลสงคราม แก้ปัญหาโดยการขอพระราชทานนามเขื่อนจากพระมหากษัตริย์เพื่อปกป้องไม่ให้โครงการนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากฝ่ายค้าน
ขณะที่ในระดับพื้นที่ ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนแห่งนี้หลายพื้นที่ยอมจำนน อพยพออกจากบ้านเกิด ขณะที่บางกลุ่มได้นำตำนานพระร่วงมาใช้ต่อสู้กับรัฐ โดยเรียกผู้คัดค้านว่า “พระร่วงองค์ที่สอง” ซึ่งเป็นพระร่วงที่มากู้ประชาชนไม่ใช่กู้ชาติ
ต่อมาในช่วงสงครามเย็นตั้งแต่ทศวรรษ2500-2530 ที่รัฐไทยเร่งการพัฒนาเศรษฐกิจ รัฐบาลทุกสมัยไม่ว่าจะเป็นเผด็จการหรือประชาธิปไตยก็มีนโยบายสนับสนุนการสร้างเขื่อน โดยพึ่งพาสถาบันการเงินระหว่างประเทศ เช่น ธนาคารโลก สถาบันการเงินของประเทศฝ่ายเหนือหรือประเทศที่พัฒนาแล้ว รวมทั้งพึ่งพาเทคนิคและความรู้จากองค์กรช่วยเหลือระหว่างประเทศจากประเทศฝ่ายเหนือเช่น USIAD JICA เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ในปลายทศวรรษ 2530 ข้ออ้างในการสร้างเขื่อนของรัฐไทยที่อ้างว่าการสร้างเขื่อนเป็น “การพัฒนา” ก็ต้องเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ความคิดเขื่อนถูกท้าทายจากนักศึกษา ชาวบ้าน ประชาชน นักสิ่งแวดล้อม และนักวิชาการ ในกรณีเขื่อนน้ำโจน จนทำให้รัฐบาลพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ต้องยุติโครงการนี้หลังจากมีการต่อสู้คัดค้ายอย่างยาวนาน
การที่ความคิดเกี่ยวกับเขื่อนของรัฐไทยถูกท้าทายนี้เอง บรรดานักสร้างเขื่อนในรัฐไทยก็ได้เสนอวาทกรรมใหม่ให้เกิดความชอบธรรมว่าเพื่อเป็นการแก้ปัญหาภัยแล้ง ซึ่งเห็นได้ชัดเจนในสมัยรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัน และรัฐบาลพล.อ.สุจินดา คราประยูร ที่มาจากการรัฐประหาร และข้ออ้างนี้ก็ปรากฏชัดในกรณีของเขื่อนแก่งเสือเต้น และโครงการผันน้ำ-โขง-ชี-มูล และเขื่อนปากมูล
ข้ออ้างในการสร้างเขื่อนก็เปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในปลายปี 2554 โดยนักสร้างเขื่อนได้หยิบเอาการป้องกันอุทกภัยมาสร้างความชอบธรรมให้กับเขื่อน โดยการผุดแผนการจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาทขึ้นมา ซึ่งแผนนี้มีทั้งการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่และการผันน้ำ แม้ว่าในความเป็นจริงแล้วเขื่อนจำนวนมากในแผนนี้มีมาก่อนหน้านี้นานแล้ว บางเขื่อนก็วางแผนไว้ตั้งแต่ทศวรรษ 2510 เช่น เขื่อนโป่งขุนเพชร ที่ชัยภูมิที่วางแผนโดยนักสร้างเขื่อนจากอเมริกา
เหตุการณ์น้ำท่วมครั้งนี้ยิ่งเห็นได้ชัดถึงการหยิบเอาปัญหาอุทกภัยมาสร้างความชอบธรรมในการสร้างเขื่อน ดังเช่น ที่กบินทร์บุรีและชัยภูมิที่เกิดอุทกภัยและนักการเมืองในรัฐบาลได้ช่วงชิงนำเสนอโครงการเขื่อนล้อมเมืองและเขื่อนภายใต้แผนการจัดการน้ำ3.5 แสนล้านบาททันที ท่ามกลางข้อสงสัยของคนในท้องถิ่นที่มองว่าน้ำท่วมครั้งนี้คือการจงใจเพื่อทำให้เกิดภัยพิบัติเพื่อจะได้นำมาเป็นข้ออ้างในการสร้างเขื่อน
ประวัติศาสตร์ความคิดเขื่อนที่กล่าวมาทั้งหมดทำให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า “ข้ออ้าง” ในการสร้างเขื่อนลื่นไหลจากการสร้างเขื่อนเพื่อ “การสร้างชาติ” และ “การพัฒนา” มาเป็น “การแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม” แม้ว่าโดยข้อเท็จจริงแล้ว เขื่อนและการจัดการน้ำที่เป็นการขวางทางไหลของน้ำ โดยตัวมันเองคือที่มาของปัญหาเหล่านี้
ท่ามกลางข้ออ้างของนักสร้างเขื่อนที่มีลักษณะลื่นไหลตลอดเวลาดังที่กล่าวมา ประเด็นสำคัญที่ผมคิดว่าเป็นหัวใจของการจัดการน้ำแบบนี้ แต่ไม่ค่อยมีการนำมาถกเถียงกันในสังคมไทยก็คือความคิดที่แท้จริงที่อยู่เบื้องหลังโครงการเหล่านี้
1.รัฐต้องการรวมศูนย์อำนาจในการควบคุมน้ำมาไว้ที่รัฐโดยที่โครงการขนาดใหญ่เหล่านี้คือเครื่องมือสำคัญของรัฐ รากเหง้าความคิดของการสร้างเขื่อนและระบบชลประทานที่เป็นการรวมศูนย์อำนาจการจัดการน้ำไว้ที่รัฐเกิดขึ้นในปีค.ศ.1886 เมื่อ JohnWesley Powell ศาสตราจารย์ทางด้านภูมิศาสตร์จากอิลลินอย บิดาแห่งการสร้างเขื่อนได้เสนอว่าน้ำไม่ควรถูกจัดการโดยเกษตรกรหรือชุมชน แต่รัฐควรเข้าจัดการ และไม่ควรแยกย่อยการจัดการน้ำออกเป็นส่วนๆดังนั้นจึงควรมีการเก็บกักน้ำไว้ในอ่างขนาดยักษ์ ซึ่งแนวคิดนี้ได้ส่งอิทธิพลทางความคิดต่อการจัดการน้ำของรัฐไทยมาจนถึงปัจจุบัน
2.รัฐไทยมีวิธีคิดทางเศรษฐศาสตร์เกี่ยวกับขนาดของโครงการ (Economy of scale) ที่ว่า “ยิ่งโครงการมีขนาดใหญ่ ก็ยิ่งดี” ดังนั้น โครงการเหล่านี้จึงเกิดขึ้นมาภายใต้วิธีคิดแบบนี้
ที่สำคัญ วิธีคิดนี้ได้ทำให้เกิด “การเมืองของการรวมหัวแสวงหาประโยชน์” ดังเขื่อนทุกเขื่อนที่ผ่านมาที่ล้วนแต่เอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนข้ามชาติ ขณะที่แผนการจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาทเราก็จะเห็นถึงการรวมหัวกันของนักการเมือง ทุนไทย และทุนข้ามชาติทั้งจากจีนและเกาหลี
ผลที่ตามมาก็คือ ทั้งรัฐไทย บรรดานักสร้างเขื่อน และนักการเมืองทั้งหลายจะไม่พิจาณาทางเลือกอื่นๆ ในการจัดการน้ำทั้งน้ำแล้งและน้ำท่วม ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว ยังมีทางเลือกอีกมากในการจัดการน้ำ
ทางเลือกที่ผมเห็นว่าไม่ถูกนำมาพิจารณาก็คือ การปรับปรุงประสิทธิภาพของระบบเขื่อนและชลประทานต่างๆ ที่มีอยู่ การวางแผนการจัดการที่ดินใหม่ การควบคุมการใช้ที่ดินไม่ให้การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาเมืองและอุตสาหกรรม ไปกระทบต่อพื้นที่ชุ่มน้ำที่รองรับน้ำท่วมหรือกีดขวางทางน้ำ ปรับปรุงถนนที่มีอยู่แล้วไม่ให้กีดขวางทางน้ำ รวมทั้งการยกเครื่องการบริหารจัดการน้ำใหม่โดยการให้สิทธิกับประชาชนในลุ่มน้ำในการบริหารจัดการอย่างแท้จริง ไม่ใช่รวมศูนย์ที่รัฐเพียงฝ่ายเดียว
One Response to “โปรยเขื่อนทั่วฟ้า : ความล้มเหลวของการจัดการน้ำภาครัฐ”
ใส่ความเห็น
คุณต้องเข้าสู่ระบบ เพื่อจะพิมพ์ความเห็น
จัดเวทีแจกเขื่อนทั่วประเทศไทย ทั้ง 77 จว. ที่อีสานไม่ใช่เฉพาะสกลนครและชัยภุมิแล้ว