พิรุธ 3 ข้อ ประชาพิจารณ์ “เขื่อนแม่แจ่ม”
เมื่อวันที่ 19 ต.ค.2556 นายสมเกียรติ มีธรรม แห่งสถาบันอ้อผะหญา ได้เผยแพร่บทความชื่อ “อะไร….? เป็นอะไร….? ก่อนเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนจังหวัดเชียงใหม่” มีเนื้อดังระบุถึงข้อพิรุธการจัดรับฟังความคิดเห็นโครงการก่อสร้างเขื่อนแม่แจ่ม อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ที่นอกจาก อาจไม่ได้ปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ยังมีความไม่ชอบมาพากลในการเลือกกลุ่มเป้าหมายให้เข้าร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็น มีเนื้อหาดังต่อไปนี้
…..
ถ้าว่ากันตามระเบียบสำนักนายรัฐมนตรี เรื่องการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน โครงการเพื่อออกแบบและก่อสร้างระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนและระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทย ตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ที่จัดขึ้นใน 36 จังหวัด ตั้งแต่วันที่ 15 ต.ค.2556 ถึงวันที่ 6 ธ.ค.2556 แล้ว ผิดระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ.2548 หลายประการโดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่โครงการเขื่อนแม่แจ่ม อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ และอาจมีที่อื่นๆด้วย มีการปฏิบัติที่ไม่ครบตามระเบียบดังกล่าว
1. ข้อมูลที่ส่งไปให้ผู้ใหญ่ กำนัน และผู้นำศาสนาใน อ.แม่แจ่ม มีเพียงจดหมายปะหน้าจากอำเภอแม่แจ่ม ประกาศอำเภอแม่แจ่มเรื่องการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่อำเภอแม่แจ่ม และประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีและกำหนดการรับฟังความคิดเห็นเท่านั้น ไม่ปรากฏเอกสารอื่นใดนอกเหนือจากนี้
ขณะที่ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฯ ข้อ 7 ระบุข้อมูลที่รัฐเผยแพร่ไม่น้อยกว่า 15 วัน ต้องแจงถึงเหตุผลความจำเป็นและวัตถุประสงค์ของโครงการ สาระสำคัญของโครงการ ผู้ดำเนินการ สถานที่ที่จะดำเนินการ ขั้นตอนและระยะเวลาดำเนินการ ผลผลิตและผลลัพธ์ของโครงการ ผลกระทบฯ มาตรการป้องกันแก้ไขหรือเยียวยาความเดือดร้อน หรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากผลกระทบดังกล่าว และงบประมาณ
2. มีความไม่เป็นธรรมในการกำหนดพื้นที่เป้าหมาย เมื่อพิจารณาจากเอกสารกลุ่มเป้าหมายการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นฯแต่ละจังหวัด ที่เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ระบุพื้นที่เป้าหมายที่เข้าร่วมเวทีรับฟังฯวันที่ 30 ต.ค.2556 จำนวน 2 พื้นที่ด้วยกันคือ 1.พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง กับ 2.พื้นที่ใกล้เคียงหรือพื้นที่ที่ไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง
พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง มีการกำหนดไว้ทั้งตำบล คือ ต.แม่นาจร มี 19 หมู่บ้าน ทั้งๆ พื้นที่เป้าหมายที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจริงๆ มีเพียง 6 หมู่บ้าน
ส่วนที่พื้นที่ใกล้เคียงหรือพื้นที่ที่ไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง กลับกำหนดพื้นที่ไว้สูงถึง 20 อำเภอ 257 หมู่บ้าน 1,865 ตำบล 683,879 ครอบครัว 1,628,409 คน
3. ลักไก่และไม่เป็นธรรมในการกำหนดกลุ่มเป้าหมาย คำว่า “ผู้มีส่วนได้เสีย” ตามระเบียบสำนักนายกฯ ข้อ 4 ย่อหน้าที่ 3 กำหนดไว้ชัดเจนว่า“หมายถึงผู้ซึ่งอาจได้รับความเดือดร้อนหรือความเสียหายโดยตรงจากการดำเนินงานตามโครงการของรัฐ” ขณะที่ในเอกสาร “คู่มือการจัดการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อระบบบริหารจัดการทรัพยากรนาอย่างยั่งยืนและระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศ โดย คณะกรรมการบริหารจัดการนาและอุทกภัย (กบอ.) ร่วมกับระทรวงมหาดไทย และสถาบันการศึกษา” ระบุแตกต่างไปจากระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี โดยเพิ่มเติมพื้นที่กว้างออกไป ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับผลกระทบ “…โดยอ้อม รวมทั้งผู้ได้รับประโยชน์และเสียประโยชน์” ด้วย โดยแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ
กลุ่มประชากรที่ได้รับผลกระทบตรง กำหนดไว้ทั้ง ต.แม่นาจร 10,486 คน ในกลุ่มนี้ได้จำแนกผู้เข้าร่วมเวทีฯออกเป็น 11 กลุ่มด้วยกันคือ ประชาชนที่รับผลโดยตรง 116 คน ที่เหลือเป็นผู้นำชุมชน ต.แม่นาจร 19 คน/หมู่บ้าน หน่วยงานระดับจังหวัด ระดับท้องถิ่น ศาสนสถาน และสถานพยาบาลหน่วยงานละ 1 คน สถาบันการศึกษา/องค์กรเอกชนอิสระ 3 คน หน่วยงานเอกชนและ NGO หน่วยงานละ 5 คน อีก 2 คนเป็นสื่อมวลชน รวมเป็น 154 คน
ขณะที่กลุ่มเป้าหมายในอำเภอที่ไม่ได้รับผลกระทบ กำหนดไว้สูงถึง 683,879 ครอบครัว 1,628,409 คน ในจำนวนนี้แบ่งเป็น 11 กลุ่มอีกเช่นกัน ได้แก่หน่วยงานระดับจังหวัด 20 คน ระดับท้องถิ่น 156 คน ผู้นำชุมชน 329 คน สถาบันการศึกษา/องค์กรเอกชนอิสระ ศาสนสถาน สถานพยาบาล หน่วยงานเอกชนและ NGO หน่วยงานละ 5 คน อีก 20 คนเป็นสื่อมวลชน ประชาชนทั่วไป 1,047 คน รวม 1,598 คน
ถ้ารวมพื้นที่เป้าหมายที่มีสิทธิเข้าร่วมเวทีรับฟังฯกรณีโครงการเขื่อนแม่แจ่มและเขื่อนแม่ขานในวันที่ 30 ต.ค.2556 นี้ ก็จะมีมากถึง 25 อำเภอ 262 ตำบล 1,923 หมู่บ้าน 693,605 ครอบครัว 1,655,642 คนในจำนวนนี้กำหนดกลุ่มเป้าหมายที่จัดประชุม 2,000 คน แต่เปิดโอกาสให้ผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงตามระเบียบสำนักนายกฯ ข้อ 4 ย่อหน้าที่ 3 เข้าร่วมเวทีฯได้เพียง 277 คน อีก 1,723 คนเป็นหน่วยงานระดับจังหวัด ระดับท้องถิ่น ผู้นำชุมชน สถาบันการศึกษา/องค์กรเอกชนอิสระ ศาสนสถาน สถานพยาบาล หน่วยงานเอกชนและ NGO สื่อมวลชน และประชาชนทั่วไป
เมื่อเป็นเช่นนี้..เวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชนจังหวัดเชียงใหม่ในวันที่ 30 ต.ค.2556 จัดไปเพื่ออะไรกัน…?
สำนักข่าวอิศรา http://www.isranews.org/isranews-article/item/24524-maejam.html
ใส่ความเห็น
คุณต้องเข้าสู่ระบบ เพื่อจะพิมพ์ความเห็น